ฮอร์โมนเพศหญิง
ฮอร์โมนเพศหญิงคืออะไร?
ฮอร์โมนเพศหญิงหลัก ได้แก่ เอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบสืบพันธุ์ การควบคุมรอบเดือน สุขภาพของผิวพรรณ กระดูก และอารมณ์ นอกจากนี้ ยังมี เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในระดับต่ำที่ช่วยเสริมสร้างพลังงานและมวลกล้ามเนื้อในเพศหญิง
ฮอร์โมนเพศหญิงในแต่ละช่วงวัย
วัยเด็กและวัยรุ่น (0-19 ปี)
ฮอร์โมนเพศหญิงเริ่มทำงานตั้งแต่เด็ก และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์
ในช่วงวัยรุ่น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตของเต้านม มีรอบเดือนครั้งแรก และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
ควรดูแลสุขภาพโดยการรับประทานอาหารที่สมดุลและออกกำลังกายเป็นประจำ
วัยเจริญพันธุ์ (20-39 ปี)
ฮอร์โมนเพศหญิงเริ่มทำงานตั้งแต่เด็ก และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์
ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตอาจส่งผลต่อระดับฮอร์โมน ทำให้เกิดภาวะรอบเดือนผิดปกติ หรือภาวะมีบุตรยาก
การดูแลสุขภาพโดยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก โฟเลต และไขมันดี สามารถช่วยรักษาสมดุลฮอร์โมนได้
วัยก่อนหมดประจำเดือน (40-50 ปี)
ระดับเอสโตรเจนเริ่มลดลง ส่งผลให้รอบเดือนเปลี่ยนแปลง อารมณ์แปรปรวน และอาจมีอาการร้อนวูบวาบ
การลดลงของฮอร์โมนอาจทำให้มวลกระดูกลดลง มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน
ควรออกกำลังกายแบบแรงต้าน รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง และปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับฮอร์โมนทดแทนหากมีอาการรุนแรง
วัยหมดประจำเดือน (50 ปีขึ้นไป)
ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ผิวแห้ง ความหนาแน่นของกระดูกลดลง และอารมณ์เปลี่ยนแปลง
อาจมีภาวะช่องคลอดแห้งและสมรรถภาพทางเพศลดลง
ควรให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายแบบแรงต้าน การควบคุมน้ำหนัก และการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน หากจำเป็น
ทำไมควรตรวจสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง?
การตรวจสมดุลฮอร์โมนเพศหญิงช่วยประเมินสุขภาพและป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น:
ประจำเดือนผิดปกติ หรือมีอาการก่อนมีประจำเดือนรุนแรง (PMS)
อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า
อาการวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ และผิวพรรณเปลี่ยนแปลง
ปัญหาการมีบุตรยาก หรือภาวะถุงน้ำรังไข่ (PCOS)
ต้องตรวจเเลปอะไรบ้าง?
การตรวจฮอร์โมนเพศหญิงสามารถทำได้ผ่านการตรวจเลือด และสามารถประเมินวันการตรวจได้จากรอบเดือน ได้แก่ :
Estradiol (E2) – ระดับเอสโตรเจนที่มีผลต่อรอบเดือนและการเจริญพันธุ์
Progesterone – ฮอร์โมนที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์และการควบคุมรอบเดือน
FSH (Follicle-Stimulating Hormone) – ฮอร์โมนที่ควบคุมการตกไข่และใช้ประเมินภาวะหมดประจำเดือน
LH (Luteinizing Hormone) – ฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดการตกไข่
Prolactin – ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำนมและอาจส่งผลต่อภาวะมีบุตรยาก
DHEA-S – ฮอร์โมนที่มีบทบาทต่อพลังงานและอารมณ์
Testosterone (ในเพศหญิง) – ระดับสูงเกินไปอาจเกี่ยวข้องกับภาวะถุงน้ำรังไข่ (PCOS)
ใครบ้างที่ควรตรวจสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง?
ผู้ที่มีรอบเดือนผิดปกติ หรือมีอาการ PMS รุนแรง
ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก หรือสงสัยว่ามีภาวะ PCOS
ผู้ที่มีอารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลโดยไม่ทราบสาเหตุ
ผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนที่มีอาการร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ หรือกระดูกพรุน
ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือปัญหาการเผาผลาญ
วิธีดูแลสมดุลฮอร์โมนเพศหญิงในทุกช่วงวัย
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว ถั่ว ธัญพืช และไขมันดี
ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะโยคะ พิลาทิส และเวทเทรนนิ่ง
พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อคืน
จัดการความเครียด ด้วยการทำสมาธิ ฝึกหายใจ หรือทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย
เลี่ยงสารพิษและฮอร์โมนรบกวน เช่น ยาฆ่าแมลง พลาสติก BPA และอาหารแปรรูป
ตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อประเมินระดับฮอร์โมนและป้องกันปัญหาสุขภาพ
ฮอร์โมนเพศหญิงมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพในทุกช่วงวัย การตรวจสมดุลฮอร์โมนช่วยให้สามารถป้องกันและจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องได้อย่างเหมาะสม หากพบอาการผิดปกติ ควรเข้ารับการตรวจและปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม
บทความโดย พญ.รวิปรียา ภูมิโคกรักษ์แพทย์
เวชศาสตร์ป้องกัน เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ